คุณยังไม่มีสินค้าในรถเข็น
ถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian Cyst) (2)
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2024 10 นาฬิกา 34 นาที 11 วินาที Asia/Bangkok
ถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian Cyst) (2)
ถุงน้ำรังไข่…ใช่มะเร็งหรือเปล่า?
ถึงแม้ว่าถุงน้ำรังไข่จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ค่อนข้างน้อย แต่แพทย์ก็ต้องระวังและรอบคอบในการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ ได้แก่ มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ หรือการอัลตราซาวด์พบลักษณะของถุงน้ำขอบไม่เรียบ พบน้ำในช่องท้อง เมื่อแพทย์สงสัยก็จะต้องตรวจเพิ่มเติมในเรื่องของมะเร็งต่อไป
การรักษาถุงน้ำในรังไข่
โดยปกติแล้วถุงน้ำในรังไข่จะหายไปได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา ซึ่งแพทย์อาจตรวจร่างกายซ้ำภายใน 1-3 เดือน เพื่อดูว่าถุงน้ำมีขนาดเล็กลงหรือหายไปหรือไม่ หากถุงน้ำในรังไข่ไม่หายไปเองแพทย์อาจพิจารณาวิธีรักษาอย่างเหมาะสม เช่น
การใช้ยา หากผู้ป่วยมีถุงน้ำเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แพทย์อาจให้ใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมน เพื่อยับยั้งการตกไข่และลดโอกาสการเกิดซ้ำ หากวินิจฉัยถุงน้ำช็อคโกแลต (Endometritic Cyst) การให้ยาฮอร์โมนรักษาถือเป็นการรักษาหลักในกรณียังไม่ต้องการมีบุตรเพื่อยับยั้งการดำเนินโรคได้ดี
การผ่าตัดส่องกล้อง แพทย์จะเจาะรูเล็ก ๆ ตรงหรือต่ำกว่าสะดือเพื่อส่องดูภายในอุ้งเชิงกรานและนำถุงน้ำออกมา ข้อดีคือแผลเล็ก เจ็บแผลน้อยกว่า และการฟื้นตัวเร็วกว่าการเปิดเหน้าท้อง วิธีนี้เหมาะใช้รักษาถุงน้ำที่ไม่สงสัยเป็นเซลล์มะเร็ง ไม่มีผังผืดมาก
การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แพทย์เปิดแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง แผลอาจลงแนวกลางหรือแนวขวางเหนือหัวหน่าว แพทย์มักเลือกใช้วิธีนี้ในการรักษาในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่หรือมีผังผืดมาก หรือถุงน้ำสงสัยภาวะมะเร็ง โดยจะผ่าตัดเปิดหน้าท้องและนำถุงน้ำออกมา หรือตัดทั้งมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์
จะป้องกันการเกิดถุงนำรังไข่ได้อย่างไร?
สาเหตุถุงน้ำรังไข่ที่ไม่ใช่ Functional Cyst ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามีสาเหตุจากอะไร บางชนิดเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ แต่ในปัจจุบันมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าต้นเหตุของเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่เกิดมาจากเซลล์เยื่อบุของท่อนำไข่ที่มีการกลายเป็นเซลล์ผิดปกติหลุดมาติดที่รังไข่ และเติบโตต่อไปเป็นมะเร็งรังไข่ จากข้อมูลทางสถิติพบว่าผู้หญิงที่ทำหมันแล้วจะมีโอกาสเป็นมะเร็งถุงน้ำรังไข่น้อยกว่าผู้หญิงที่ยังไม่ได้ทำหมัน ดังนั้นเมื่อผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว หรือไม่สามารถมีบุตรได้แล้ว ถ้ามีการรักษาใด ๆ ที่จำเป็นต้องผ่าตัดในช่องท้องก็มักจะตัดท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออกด้วยเลย เพื่อป้องกันมะเร็งรังไข่ในอนาคต
เครดิตข้อมูล
www.phyathai.com
https://piyavate.com
เครดิตรูปภาพ
www.abc.net.au
www.vimut.com