คุณยังไม่มีสินค้าในรถเข็น
นอนกรน (Snoring) (2)
วันอังคารที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2024 9 นาฬิกา 09 นาที 16 วินาที Asia/Bangkok
นอนกรน (Snoring) (2)
อาการนอนกรนนั้น ทางการแพทย์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ นอนกรนแบบธรรมดา และ นอนกรนแบบอันตราย
❖ นอนกรนแบบธรรมดา
คือการนอนกรนประเภทที่มีแต่เสียงดังน่ารำคาญ แต่ไม่ได้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อร่างกาย อาการนอนกรนประเภทนี้เกิดจากการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจเพียงบางส่วนแต่ไม่ได้ปิดสนิททั้งหมด ดังนั้นยังมีอากาศไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายเราได้ แต่ช่องคอที่แคบทำให้เกิดการสั่นสะเทือนเกิดเป็นเสียงกรนดัง ซึ่งมีผลคือความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมห้องด้วยเท่านั้น หรืออย่างมากอาจมีอาการคอแห้งตอนตื่นมาได้
❖ นอนกรนแบบอันตราย
หากผู้ที่นอนกรนแบบธรรมดาข้างต้นมีอาการแย่ลง คือกล้ามเนื้อในช่องคอมีการหย่อนตัวลงมากขึ้น ช่องทางเดินหายใจที่ตีบแคบก็จะแคบลงมาจนปิดสนิท และเมื่อช่องทางเดินหายใจปิดสนิทก็จะไม่มีอากาศไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายเราได้เลย และแน่นอนเมื่อไม่มีอากาศไหลผ่านก็ไม่มีการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ เสียงกรนก็จะหายไปด้วย (ชั่วคราว) แต่อันตรายได้เริ่มขึ้นแล้ว เรียกภาวะเช่นนี้ว่า "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น" หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า "Obstructive Sleep Apnea" หรือส่วนมากจะนิยมเรียกกันง่าย ๆ ว่า "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" หรือ "OSA"
**ดังนั้นการนอนกรนแบบอันตรายก็คือการนอนกรนแบบที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ร่วมด้วยนั่นเอง
การป้องกันนอนกรน
• ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน จะช่วยให้การนอนกรนลดลงได้
• นอนตะแคง การนอนหงายเพิ่มโอกาสให้ลิ้นไปปิดกั้นทางเดินหายใจ
• นอนหมอนสูง โดยใช้หมอนรองให้ศีรษะสูงขึ้นประมาน 4 นิ้ว
• ใช้แผ่นแปะจมูกหรือตัวถ่างจมูกในขณะนอนหลับ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางเดินหายใจในจมูก ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น
• ลดการปิดกั้นของทางเดินหายใจในจมูก ในผู้ป่วยภูมิแพ้หรือผนังกั้นช่องจมูกคดจะหายใจทางจมูกไม่สะดวกจึงต้องหายใจทางปาก ทำให้เพิ่มโอกาสในการนอนกรนได้มากขึ้น
• ลดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับและยาระงับประสาท เพื่อลดโอกาสที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำคอคลายตัวและปิดกั้นทางเดินหายใจ
• เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุให้คัดจมูกและหายใจไม่สะดวก
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เด็กก่อนวัยเรียนควรนอนประมาณ 11-12 ชั่วโมงต่อวัน เด็กในวัยเรียนควรนอนอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน วัยรุ่นควรนอนประมาณ 9-10 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ใหญ่ควรนอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
ที่มา
www.pobpad.com
www.naturebiotec.com
www.nksleepcenter.com