สิ่งควรรู้ก่อนซื้ออุปกรณ์ช่วยเดิน

   สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการเดินหรือการทรงตัวอาจกำลังมองหาอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งอุปกรณ์ช่วยเดินเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยตอบโจทย์ได้ เมื่อจะเริ่มซื้ออุปกรณ์ช่วยเดินผู้ใช้งานอาจเกิดคำถามขึ้นเช่น อุปกรณ์ช่วยเดินคืออะไร? จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินแค่ไหน? ถ้าซื้อมาจะคุ้มหรือไม่? อุปกรณ์ช่วยเดินมีกี่แบบ แต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร แล้วควรใช้แบบไหนดี? วันนี้เรามาหาคำตอบกันค่ะ

   อุปกรณ์ช่วยเดินหรืออุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนที่ (Gait Aids, Walking Aids) คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับช่วยในการเคลื่อนที่สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัวหรือการเดิน ทำให้เดินหรือเคลื่อนที่ได้สะดวกขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ช่วยเดินดังกล่าวจะช่วยเพิ่มฐานการรับน้ำหนัก ช่วยลดการลงน้ำหนักที่ขา ทำให้ผู้ใช้งานมีการทรงตัวที่ดีและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ใครจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินบ้าง?
   1. ผู้ที่มีปัญหาด้านการลงน้ำหนัก ไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขาได้
   2. ผู้ที่ข้อเข่าหรือข้อสะโพกเสื่อม
   3. ผู้ที่มีอาการข้ออักเสบหรือมีโรคประจำตัว เช่น รูมาตอยด์, เกาต์, ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินได้สะดวก
   4. ผู้ที่กระดูกขาหัก, กระดูกร้าว
   5. ผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัว เช่น ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยพาร์กินสัน, ผู้ป่วยเบาหวานที่เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมทำให้การรับรู้และการทำงานของข้อต่อผิดปกติ
   6. ผู้ที่ปัญหาด้านสมองหรือไขสันหลัง เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ, โรคหลอดเลือดในสมองแตก, เส้นประสาททับไขสันหลังทำให้เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต

อุปกรณ์ช่วยเดินมีกี่แบบแต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร?
   1. ไม้เท้า (Cane)
       เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ถือข้างใดข้างหนึ่ง จึงเหมาะที่จะใช้กับผู้ที่มีอาการปวดเข่าหรือปวดสะโพก ข้อดี คือ ราคาไม่แพง ปรับระดับความสูงต่ำได้ มีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น ไม้เท้าแบบขาเดียว, ไม้เท้าแบบ 3 ขา, ไม้เท้าแบบ 4 ขา เป็นต้น

   2. ไม้ค้ำยัน (Crutches)
       เป็นอุปกรณ์ที่ต้องถือด้วยมือทั้ง 2 ข้าง สามารถรับน้ำหนักได้ดี จึงเหมาะที่จะใช้กับผู้ที่มีกำลังแขนทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากต้องใช้แรงในการเคลื่อนที่และไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขาได้เต็มที่ เช่น กระดูกขาหัก เป็นต้น มีให้เลือกหลายหลายแบบ เช่น ไม้ค้ำยันรักแร้, ไม้ค้ำยันท่อนแขน Platform Crutch เป็นต้น

   3. เครื่องช่วยเดิน 4 ขา (Walker)
       เป็นอุปกรณ์โครงเหล็กหรืออลูมิเนียมที่มี 4 ขา สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี จึงเพิ่มความมั่นคงมากขึ้นและมีน้ำหนักเบาทำให้เดินได้ง่าย เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาการทรงตัวไม่ดี, ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่มีกำลังแขน ข้อเสีย คือ มีขนาดใหญ่ ไม่เหมาะกับการเดินในที่แคบหรือการขึ้นลงบันได อุปกรณ์มีหลากหลายแบบ เช่น วอคเกอร์มีล้อ 2 ล้อ, วอคเกอร์มีล้อ 4 ล้อ หรือเรียกว่า Rollator

   สำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ผู้สูงอายุที่ต้องการฝึกเรื่องการเดิน ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ที่ต้องการทำกายภาพบำบัด อุปกรณ์ฝึกเดินหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน (Gait trainer) ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้การเดินดียิ่งขึ้นค่ะ


สรุป
   สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้ออุปกรณ์ช่วยเดิน คือ ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองและลักษณะของผู้ใช้งาน, ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตของผู้ใช้งาน, คุณสมบัติของอุปกรณ์ช่วยเดิน (เช่น การรับน้ำหนัก, วัสดุ, แถบจับ/จุกสำหรับกันลื่น), ราคา เป็นต้น ควรเลือกอุปกรณ์ช่วยเดินให้เหมาะสมเพื่อทำให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะอุปกรณ์ช่วยเดินจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนที่ ทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นและยังลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุได้อีกด้วย

ที่มา :
[1] https://www.aarp.org/caregiving/health/info-2019/mobility-problems.html
[2] https://w1.med.cmu.ac.th/rehab/images/Study_guide/06.1%20mobility%20aids.pdf
[3] https://meded.psu.ac.th/binlaApp/class05/388_571_2/Walking_aids/index.html
[4] https://www.boneandjoint.psu.edu/course/hip-replacement/before-you-consider-surgery/gait-aids
[5] https://shorturl.asia/2oY7f
[6] http://www.manthita.tht.in.th/shoppingcart.php?tokenWeb=MTc5MTA=&shoppingcart_id=72749&detailID=84211
[7] http://www.manthita.tht.in.th/shoppingcart.php?tokenWeb=MTc5MTA=&shoppingcart_id=72749&detailID=84210
[8] https://shorturl.asia/iAINk
[9] https://justwalkers.com/products/medline-forearm-crutches
[10] https://www.performancehealth.ca/platform-forearm-crutch
[11] https://www.hmebc.com/products/standard-folding-walker/
[12] http://www.elder4care.com/product/walker-jl9125l/