การเกิดแผลกดทับ

 

แผลกดทับคืออะไร?
แผลกดทับคืออาการที่กล้ามเนื้อขาดอาหาร น้ำ และอากาศ เนื่องจากถูกกดทับเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงได้โดยสะดวก และในท้ายที่สุดแล้วกล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดแผลกดทับจะถูกทำลายลง

อะไรคือปัจจัยของการเกิดแผลกดทับ?
แผลกดทับมีสาเหตุมาจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ ถูกน้ำหนักกดทับเป็นเวลานาน โดยน้ำหนักอาจกดลงเพียงจุด ๆ เดียว หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว อาทิ
-การที่ร่างกายของผู้ป่วยผ่ายผอมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแผลกดทับได้ เนื่องมาจากการที่ผู้ป่วยผอมจะทำให้กล้ามเนื้อที่จะมาช่วยกระจายแรงกดน้อยลงไปซึ่งจะส่งผลให้ปุ่มกระดูกหรือกระดูกบริเวณข้อต่อที่มีความนูนกดทับผิวหนังหรือกล้ามเนื้อเพียงจุดเดียว นั่นจึงเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเกิดแผลกดทับให้มากยิ่งขึ้น
-ความแห้งของผิวเองก็สามารถทำให้เกิดแผลกดทับได้ เนื่องจากการที่ผิวหนังแห้งจะทำให้เกิดความเสียดทานบริเวณผิวหนังสูง เมื่อผิวหนังไปสัมผัสหรือเสียดสีกับสิ่งอื่น ๆ ก็อาจก่อให้เกิดบาดแผลและนำไปสู่แผลกดทับได้ง่าย
-ความสกปรกและความชื้นก็อาจทำให้เกิดแผลกดทับได้เช่นกัน ดังนั้นการดูแลรักษาความสะอาดให้ผู้ป่วยอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

เป็นต้น

แผลกดทับมีกี่ระดับ?
ระดับความรุนแรงของแผลกดทับจะแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบด้วยกัน

ระดับที่ 1 ผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับจะเป็นรอยแดง นอกจากรอยแดงแล้วผิวหนังจะยังเป็นปกติ ไม่มีบาดแผลหรือรอยถลอกใด ๆ จนดูเหมือนรอยแดงที่เกิดจากทับธรรมดา เพียงแต่รอยแดงของแผลกดทับจะยังคงอยู่ตลอดไม่ได้หายไปตามเวลา

ระดับที่ 2 ผิวหนังชั้นนอกลอกออกจนเห็นชั้นผิวสีชมพูด้านใน ในบางรายอาจเป็นตุ่มน้ำใส
ระดับที่ 3 ผิวหนังภายนอกหายไปจนเห็นชั้นไขมันภายในและอาจมีเนื้อตายสีนน้ำตาล เหลือง หรือดำ
ระดับที่ 4 ผิวหนังและชั้นเนื้อเยื่อทั้งหมดหายไป จนเห็นพังพืด กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือกระดูกอ่อนบริเวณบาดแผล
แผลกดทับที่ไม่สามารถระบุระดับได้ เนื้อบริเวณแผลทั้งหมดเป็นเนื้อตายที่เปื่อยยุ่ยหรือแห้งแข็ง

 

 

กลุ่มผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลกดทับคือกลุ่มใด?

แผลกดทับมักพบในกลุ่มของผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานานหรือกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทำให้ไม่สามารถพลิกตะแคงหรือเปลี่ยนท่าการนอนได้ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้น้ำหนักตกลงที่จุดเดิมเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งนำไปสู่การเป็นแผลกดทับได้

เราสามารถป้องกันการเกิดแผลกดทับได้อย่างไร?

ผู้ดูแลสามารถป้องกกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียงได้โดยการหมั่นพลิกตะแคงหรือเปลี่ยนท่าการนอนของผู้ป่วยอยู่เสมอ เพื่อช่วยกระจายการกดทับของน้ำหนักให้ไปยังจุดอื่น

 


อ้างอิง
[1] https://www.bangkokhospital.com/
[2] http://www.si.mahidol.ac.th/