muscle weakness

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงคืออะไร?

ผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าวนี้จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล่าวคือไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว หยิบจับสิ่งของ หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ประเภทของกล้ามเนื้อที่จะเกิดโรคนั้นไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนและระยะเวลาในการดำเนินโรคจะมีระยะเวลาที่ยาวนานถึงหลักปี

 

อาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นอย่างไร?

สำหรับอาการของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นจะมีหลายอาการด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่ากล้ามเนื้อใดที่ได้รับผลกระทบจากโรคบ้างอาทิ หนังตาตก แขนขาอ่อนแรง เคี้ยวและกลืนอาหารได้ลำบาก หายใจติดขัด แสดงสีหน้าได้น้อยลง ทรงตัวลำบาก เป็นต้น

 

สาเหตุของการเกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

กล้ามเนื้ออ่อนแรงแท้จริงแล้วเป็นลักษณะของอาการที่จะบ่งชี้ไปยังโรคหลากหลายประเภท แน่นอนว่าโรคในแต่ละชนิดก็จะมีสาเหตุของการเกิดอาการที่แตกต่างกันออกไปซึ่งบทความนี้จะขอกล่าวอ้างถึงโรค 3 โรคด้วยกัน ได้แก่ MG ALS และ SMA

(1)Myasthenia Gravis

กล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดนี้ในระยะแรกผู้ป่วยส่วนมากมักจะมีอาการ หนังตาตก เห็นภาพซ้อน กลอกตาผิดปกติ แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดกับบริเวณอื่นได้ อาทิ การหายใจ การกลืนอาหาร เป็นต้น สามารถวินิจฉัยโรคได้หลายวิธี เช่น การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจดูปริมาณสารสื่อประสาท การตรวจเลือด การตรวจระบบประสาทด้วยการทดสอบการตอบสนองของระบบประสาท เป็นต้น

สาเหตุของโรคเกิดมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปทำลายการส่งกระแสประสาทของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

(2) Amyotrophic lateral sclerosis (ALS)

กล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดนี้ ในช่วงแรกกล้ามเนื้อบริเวณ แขน มือ ขา ข้างใดข้างหนึ่งจะอ่อนแรงลง ภายหลังจะเริ่มพูดไม่ชัด กลืนอาหารลำบาก กล้ามเนื้อลีบ ต่อมาจะมีอาการดังกล่าวกับร่างกายทั้งสองซีกซึ่งใช้เวลาในการดำเนินโรคนานเป็นปี มักพบอาการแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ติดเชื้อในปอด สำลักอาหาร ระบบหายใจล้มเหลว จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคมาจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron) หรือบางส่วนของเนื้อสมองเสื่อม มักพบในวัยผู้ใหญ่ ไม่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่แน่ชัด และพบได้น้อยมากในประเทศไทย

(3) Spinal Muscular Atrophy (SMA)

กล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดนี้มักพบในกลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่และเป็นโรคทางพันธุกรรม โรค SMA ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าจะเกิดอาการขึ้นในช่วงเวลาใด ซึ่งในช่วงอายุที่แตกต่างกันก็จะมีการแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงของโรคดังนี้

ชนิดรุนแรงมาก : ในเด็กแรกคลอดจนถึง 3 เดือนแรกจะมีอาการระบบหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเข้าช่วยและอายุสั้น

ชนิดรุนแรงปานกลาง : สำหรับเด็กที่แสดงอาการหลัง 6 เดือนจะยืนและเดินไม่ได้

ชนิดรุนแรงน้อย : มีการแสดงอาการในช่วงหลังอายุ 1 ปี ผู้ป่วยจะเดินได้แต่จะอ่อนแรงง่าย

สาเหตุของโรคมาจากความผิดปกติของยีนส์ตั้งแต่แรกเกิด

 

การรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง
ในปัจจุบันกล้ามเนื้ออ่อนแรงยังไม่มีการรักษาที่ช่วยทำให้หายขาดจากโรคได้จึงทำได้เพียงทำการรักษาตามอาการหรือชะลอความรุนแรงของโรคเท่านั้น


อ้างอิง
(1) https://www.honestdocs.co/what-is-myasthenia-gravis 
(2) https://www.pobpad.com/
(3) https://www.thairath.co.th/content/1229191
(4) https://www.bangkokhospital.com/
(5) https://www.samitivejhospitals.com/th/