ไอเรื้อรัง (Chronic Cough) (2)

   "การไอ" นานติดต่อกันหลายสัปดาห์ เมื่อรับประทานยาแล้วก็ยังไม่มีอาการที่ดีขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดโรคอย่างมากมาย

อาการไอเรื้อรังเกิดจากโรคใดบ้าง?

   1. วัณโรคปอด พบได้ในคนทั่วไปแม้ไม่มีประวัติสัมผัสโรค ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบได้จากการเอกซเรย์ปอด เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะมีอาการไอเรื้อรัง มีไข้ มักเป็นตอนกลางคืน มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย

   2. มะเร็งปอด ในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ เมื่อโรคเป็นมากขึ้นจะมีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน แต่บางรายอาจไม่มีประวัติสูบบุหรี่ก็ได้

   3. ถุงลมโป่งพอง มักพบในคนที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย มีหายใจเสียงดัง

   4. โรคหืด พบได้ทุกช่วงอายุ มักมีอาการไอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน อากาศเย็น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดหลอดลมฝอยว่าตีบมากหรือน้อย อาการมีได้ตั้งแต่หายใจไม่สะดวก ไอมาก หายใจดัง หอบเหนื่อย อาการมักจะกำเริบเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจร่วมด้วย

   5. โรคภูมิแพ้อากาศ มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใส ๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น

   6. กรดไหลย้อน มีอาการไอแห้ง ๆ โดยเฉพาะหลังอาหารหรือเวลาล้มตัวลงนอน อาจจะมีอาการแสบร้อนในอก หรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

   7. ไซนัสอักเสบ มักจะมีอาการเป็นหวัดหรือโรคภูมิแพ้อากาศนำมาก่อน บางรายอาการหวัดอาจดีขึ้นในช่วงแรกแล้วแย่ลงภายหลัง มักไอเวลากลางคืนเพราะน้ำมูกไหลลงคอ

   8. ภาวะทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น พบตามหลังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คือเมื่ออาการหวัดหายแล้วแต่ยังมีอาการไออยู่ โดยไอมากกลางคืนหรือเวลาอากาศเย็น ๆ ถูกลม เป็นต้น

วิธีการรักษา

   • หากผู้ป่วยมีอาการไอ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุนั้น ซึ่งจะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้ไอมากยิ่งขึ้น เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ อากาศเย็น

   • ผู้ป่วยที่มีอาการไอเพียงเล็กน้อย เบื้องต้นแพทย์จะให้รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการไอ ในกรณีที่มีหลอดลมอักเสบหรือปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไข้ ไอ เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

   • อาการไอที่มากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงร่วมด้วย เช่น มีเลือดปน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หอบเหนื่อย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม

   • ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง แพทย์อาจส่งตรวจระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่างเพิ่มเติม เช่น ส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด การส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจ การตรวจเสมหะ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด ตรวจหาสารก่อภูมิแพ้

ที่มา
www.phyathai.com
www.rama.mahidol.ac.th

เครดิตรูปภาพ
www.thaihealth.or.th

www.leejangmeng.com