ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)

   การนอนกรนเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลต่อสุขภาพไม่มากนัก แต่เนื่องจากการนอนกรนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิด "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea : OSA)" ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของการหายใจ คือมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ การนอนกรนจึงทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง และกลายเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย สุขภาพจิตเสีย สมาธิและความจำไม่ดี การเผาผลาญอาหารของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานได้

   นอกจากนี้ อันตรายที่เกิดจากการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังรวมไปถึงการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสมองและหลอดเลือดหัวใจ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของหลอดเลือดสมอง และยังอาจทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลง ส่งผลให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

โรคหยุดหายใจขณะหลับ
   คาดว่าพบในประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของผู้ชาย หรือร้อยละ 2 ของผู้หญิงวัยทำงาน และพบได้มากกว่าในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังพบได้ประมาณร้อยละ 1 ของเด็กก่อนวัยเรียนและช่วงประถม

อาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ
ㆍนอนกรนดังมากเป็นประจำ จนเกิดความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมด้วย
ㆍรู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย มีอาการไม่สดชื่น
ㆍคอแห้ง
ㆍปวดศีรษะเป็นประจำตอนเช้า
ㆍง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวัน
ㆍหงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี
ㆍมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
ㆍมีผู้อื่นสังเกตเห็นว่าหายใจไม่สม่ำเสมอและมีเสียงกรนดังแต่หยุดเป็นช่วง ๆ

ที่มา
www.bumrungrad.com
www.siphhospital.com

เครดิตรูปภาพ
www.sanook.com
https://doctorathome.com