ใส่ใจผู้ดูแล, ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

   ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของสมองที่ส่งผลให้การทำงานของสมองบกพร่อง ดังนั้นความสามารถในการจดจำ, ความสามารถในการคิดการตัดสินใจ, ความสามารถในการเรียนรู้, ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น, ความสามารถในการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน ก็จะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ ผู้ป่วยโรคนี้จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อผู้ดูแลต้องดูแลใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน มักจะเกิดความเบื่อหน่าย, อ่อนล้า, กังวล, ซึมเศร้า และเกิดความเครียดในการรับมือกับโรคที่ถดถอยลงเรื่อย ๆ

ผู้ดูแลจะจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ได้อย่างไร?
   • ผู้ดูแลควรเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์เพื่อยอมรับอาการของผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้น รวมถึงควรอธิบายเกี่ยวกับโรคและอาการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้แก่ผู้ป่วยได้รับรู้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับและให้ความร่วมมือกับผู้ดูแล
   • เข้าใจ/ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกและการกระทำของผู้ป่วย ที่บางครั้งอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของผู้ดูแล โดยผู้ดูแลควรมองว่าคำพูดและพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นผลมาจากอาการของโรค
   • คอยให้กำลังใจตนเองและผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ โดยแสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่ากิจกรรมไหนที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ส่วนผู้ดูแลนั้นอาจหาวิธีการผ่อนคลายยามว่าง ผลัดเปลี่ยนผู้อื่นมาดูแลแทน หรือการนั่งพูดคุยปัญหาต่าง ๆ ที่พบเจอกับคนในครอบครัว คนในกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วยกัน เพื่อที่จะได้มีคนรับฟังปัญหาหรือได้รับคำแนะนำในการดูแลเพิ่มเติม และยังเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึกของผู้ดูแลไปด้วย
   • ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างเหมาะสม เช่น จัดตารางกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยในทุก ๆ วันให้เหมือนกัน, จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัยและจดจำง่าย, ทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยหรือหมั่นพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นประจำเพื่อสร้างกำลังใจ, ชักชวนผู้ป่วยออกกำลังกายตามความเหมาะสม, สื่อสารกับผู้ป่วยให้ช้าลง กระชับ ใช้ระดับเสียงพูดปกติ ไม่ตะโกนหรือตะคอก อาจใช้ภาษากายร่วมด้วย, เมื่อเกิดสถานการณ์โต้แย้ง ผู้ดูแลควรหลีกเลี่ยงการโต้เถียง พยายามเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วยไปที่กิจกรรมอื่นแทน, พกบัตรหรือทำกำไล/สร้อยคอที่ระบุโรคและเบอร์ติดต่อผู้ดูแลเผื่อกรณีที่ผู้ป่วยพลัดหลง ผู้พบเห็นจะได้สามารถติดต่อผู้ดูแลได้, พาผู้ป่วยมาตรวจตามนัดแพทย์สม่ำเสมอ หากมียารับประทานควรติดตามให้ผู้ป่วยกินยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องครบถ้วน

BikeAround สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์



ที่มา :
[1] shorturl.asia/ouIhz
[2] shorturl.asia/kvVr6
[3] shorturl.asia/dUOb4
[4] https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1330021