รู้ทัน “น้ำตาลในผลไม้” กินอย่างไรไม่เสี่ยงเบาหวาน

   องค์การอนามัยโลก มีคำแนะนำให้เราให้บริโภคผักและผลไม้ไม่ต่ำกว่าวันละ 400 กรัมต่อวัน เพื่อผลในการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ คนจำนวนมากเข้าใจว่า น้ำตาลในผลไม้นั้นเป็นน้ำตาลที่ดี ไม่ก่ออันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย ทั้งกับคนปกติและคนที่เป็นเบาหวานเพราะเป็นสารจากธรรมชาติ แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะน้ำตาลที่พบในผลไม้นั้นมีด้วยกันถึง 3 ชนิด คือ ฟรุกโทส กลูโคส และซูโครส

   ฟรุกโทส คือ น้ำตาลที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้โดยไม่ต้องใช้ฮอร์โมนอินซูลินช่วย ดังนั้นผู้ที่เสี่ยงหรือป่วยด้วยโรคเบาหวานจึงสามารถบริโภคน้ำตาลชนิดนี้ได้ในปริมาณที่พอเหมาะโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง

   กลูโคสและซูโครส คือ น้ำตาลที่ต้องใช้ฮอร์โมนอินซูลินในการดูดซึม จึงเป็นน้ำตาลที่ผู้เสี่ยงหรือป่วยเบาหวานต้องหลีกเลี่ยง

   ดังนั้นเราจึงควรเลือกกินผลไม้อย่างระมัดระวัง เพราะกินมากไปอาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

4 หลักในการกินผลไม้
   1. หวานน้อยไม่ได้ดีเสมอไป หลายคนมีหลักการพื้นฐานในการเลือกบริโภคผลไม้ว่า ให้เลือกบริโภคผลไม้ที่หวานน้อยเป็นหลัก แต่ไม่ใช่ในทุกกรณี เพราะผลไม้บางประเภทแม้รสหวานน้อยแต่กลับมีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคสและซูโครสในสัดส่วนที่สูง หากบริโภคโดยไม่ระมัดระวังผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคเบาหวานอาจเกิดอันตรายได้ เช่น แก้วมังกร กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง ข้าวโพดเหลืองต้ม สละ ระกำ ลูกท้อ สับปะรดภูแล
   2. ผลไม้อบแห้งก็ต้องระวัง ผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด ลูกพลับ พุทราจีนแห้ง อินทผลัม ฯลฯ แม้ว่าเป็นชนิดที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเติมน้ำตาล เช่น การนำไปแช่อิ่ม กวน หรือคลุกพริกกะเกลือ ก็ต้องบริโภคอย่างพอดี เนื่องจากส่วนที่เป็นน้ำได้ระเหยออกไปมากจึงทำให้มีน้ำหนักเบาลง ซึ่งอาจทำให้บริโภคได้มากกว่าขณะเป็นผลไม้สดเพราะอิ่มช้ากว่า ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลมีเท่า ๆ กัน เช่น พุทราจีนแห้ง 100 กรัม มีน้ำตาลอยู่ถึง 13 ช้อนชา อินทผลัมน้ำหนักเท่ากัน มีน้ำตาล 14 ช้อนชา
   3. ผลไม้สดดีที่สุด คำแนะนำให้บริโภคผลไม้สม่ำเสมอเป็นประจำนั้น มุ่งที่ผลไม้สดเท่านั้น และไม่อาจทดแทนได้ด้วยผลไม้แปรรูป เช่น ผลไม้แช่อิ่ม กวน หรือคลุกเกลือน้ำตาล รวมทั้งน้ำผลไม้สำเร็จรูป เพราะวิตามินและสารที่มีคุณค่าในผลไม้จะสูญสลายไปตามอายุและการได้รับความร้อน อีกทั้งในผลไม้แปรรูปและน้ำผลไม้ยังมีการเติมน้ำตาลเพื่อปรุงรสให้ชวนบริโภคเข้าไปอีกจำนวนมาก และอาจรวมถึงสารเคมีต่าง ๆ อีกด้วย
   4. กินผักให้มากกว่าผลไม้ ในการปฏิบัติตามข้อแนะนำให้บริโภคผักผลไม้วันละ 400 กรัม เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ควรเลือกบริโภคผักก่อนเป็นอันดับแรก และผลไม้เป็นส่วนเสริม เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กลายเป็นการ “หนีเสือปะจระเข้” จากการได้รับน้ำตาลจากผลไม้ล้นเกิน จนกลายเป็นการเร่งให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา

อ้างอิง
https://www.thaihealth.or.th
https://www.tastingtable.com
https://www.health.harvard.edu