อัมพาตครึ่งซีกเรื่องใกล้ตัวที่น่ากลัว

   อัมพาตครึ่งซีกเป็นสิ่งที่น่ากลัวเพราะทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้ลดลง แล้วอัมพาตครึ่งซีกคืออะไร? สาเหตุของการเกิดอัมพาตครึ่งซีกเกิดจากอะไร? การรักษาทำได้ไหม? วันนี้มาหาคำตอบกันค่ะ

   อัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegia) คือ สภาวะที่ไม่สามารถขยับแขนขาส่วนใดส่วนหนึ่งหรือซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายได้

สาเหตุของการเกิดอัมพาตครึ่งซีก
   1. โรคหลอดเลือดในสมอง
   2. อุบัติเหตุต่าง ๆ ทำให้ระบบประสาทได้รับบาดเจ็บ เช่น การกระทบกระเทือนทางสมอง ไขสันหลังหรือเส้นประสาทต่าง ๆ เป็นต้น
   3. การเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) มะเร็งสมอง มะเร็งไขสันหลัง เนื้องอกที่เส้นประสาท (Neurofibromatosis) เป็นต้น

อาการและลักษณะของอัมพาตครึ่งซีก
   1. แขนและขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายอ่อนแรงหรือไม่สามารถขยับได้
   2. ผู้ป่วยมีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองลดลง
   3. การรับประทานอาหารอาจเกิดสำลักน้ำและอาหารได้ง่าย
   4. ผู้ป่วยบางรายอาจพูดไม่ชัด

การรักษาอัมพาตครึ่งซีก
   การรักษาอัมพาตจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์และอาการของผู้ป่วย แพทย์จะทำการรักษาโดยการทำหัตถการและการให้ยาต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ซึ่งการรักษามักจะมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูและผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เมื่อเป็นอัมพาตครึ่งซีกเนื่องจากเซลล์ประสาทหรือสมองถูกทำลายผู้ป่วยอาจไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ 100% แต่เมื่อทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยจะได้รับการฟื้นฟูและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความเสียหายของสมองและการทำกายภาพบำบัดของผู้ป่วยด้วย

การดูแลเบื้องต้น
   1. ทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยฟื้นฟูและมีอาการที่ดีขึ้น
   2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และเป็นอาหารที่ย่อยและทานง่าย
   3. ดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้ตรงกับคำสั่งแพทย์
   4. จัดสถานที่สำหรับดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกให้เหมาะสมและมีความปลอดภัย เช่น มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น
   5. การดูแลด้านจิตใจ บางรายอาจมีอารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียว ความเข้าใจของผู้ดูแลหรือญาติเป็นสิ่งสำคัญ การให้กำลังและให้การสนับสนุนจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น

   สิ่งสำคัญในการฟื้นฟูผู้ป่วยคือการทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สมองส่วนที่สั่งการเกิดการเรียนรู้จากการเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อมีความคุ้นชิน ร่างกายของผู้ป่วยจึงฟื้นฟูได้ดียิ่งขึ้นและยังป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง
   อุปกรณ์ช่วยเดินหรือฝึกเดินช่วยในการฝึกกายภาพขาอย่างไร?

ที่มา :
[1] shorturl.asia/PTLQf
[2] shorturl.asia/lJmXs
[3] shorturl.asia/z7cOg
[4] shorturl.asia/F79hi
[5] https://www.news-medical.net/health/What-Causes-Paralysis.aspx
[6] https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15345-paralysis