ผู้ป่วยติดเตียงคืออะไร?
     "ผู้ป่วยติดเตียง" คือ ผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังจนเกิดสภาวะร่างกายเสื่อมโทรมทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติ กล่าวคือผู้ป่วยจะช่วยเหลือตนเองได้น้อยหรืออาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลยแม้แต่น้อย ผู้ป่วยจึงไม่อาจเลี่ยงที่จะ ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน ๆ ได้

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยติดเตียง?
     สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งจากการป่วยเป็นโรคร้าย อุบัติเหตุจากการรักษา เช่น การผ่าตัดใหญ่ ความผิดปกติของระบบประสาท ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยสาเหตุดังกล่าวหรือนอกเหนือจากที่กล่าวมาก็ดีจะทำให้ให้ร่างกายของผู้ป่วยอ่อนแอและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

ผู้ป่วยติดเตียงมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนใดบ้าง?
     เนื่องจากผู้ป่วยต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน ๆ หรืออาจะตลอดทั้งวัน ทำให้มีโอกาสเกิดโรดแทรกซ้อนตามมามากมาย เช่น แผลกดทับ แผลกดทับเป็นอาการที่สืบเนื่องมาจากการอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว ทำให้เกิดการทิ้งน้ำหนักลงที่จุด ๆ เดียวเป็นเวลานาน ๆ แรกเริ่มกล้ามเนื้อบริเวณที่ถูกกดทับจะปรากฏเป็นรอยแดง ซึ่งหากปล่อยทิ้งเอาไว้ ในท้ายที่สุดแล้วกล้ามเนื้อบริเวณนั้นก็จะตายไป ซึ่งในอนาคตอาจนำมาสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ ทั้งการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้จากการใช้อุปกรณ์การแพทย์ เป็นเวลานาน ๆ เช่น การใส่ท่อสวนทางเดินปัสสาวะเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ เป็นต้น

เราจะสามารถดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้อย่างไร?
     เพื่อป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้ดูแลจำเป็นจะต้องดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธีและมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การกิน การทำความสะอาดร่างกาย หรือแม้กระทั่งการนอนก็ยังมีผลต่อการเกิดแผลกดทับได้ ความสะอาดของ อุปกรณ์ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญในการดูแลผู้ป่วย อุปกรณ์หรือสิ่งของทั้งหลายที่ใช้กับผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้าห่ม เข็มฉีดยา ฯลฯ ล้วนต้องสะอาดทั้งสิ้น เพราะหากของที่นำมาใช้ไม่สะอาดเพียงพอก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ รวมไปถึง การหมั่นดูแลความสะอาดของผู้ป่วยอยู่ตลอด การทำความสะอาดร่างกายเองก็เช่นกัน
     การจัดท่านอนก็มีส่วนสำคัญ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ ผู้ดูแลต้องหมั่นเปลี่ยนท่านอนและจับผู้ป่วยพลิกตัวอยู่เสมอ ๆ รวมไปถึงขยับร่างกายผู้ป่วยบ้าง อาทิ ขยับขาหรือแขน เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อฝ่อและลดโอกาสที่จะเกิดการบวม เนื่องจากการอยู่นิ่งเป็นเวลานานได้
     อาหารผู้ป่วยจะต้องมีสารอาหารและกากใยครบถ้วน เพื่อป้องกันไม้ให้ผู้ป่วยภาวะขาดสารอาหาร และป้องกันการเกิดอาการท้องผูก ในผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยาง ผู้ดูแลต้องหมั่นตรวจเช็คและติดตามผลการตรวจจากแพทย์ว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารมากพอหรือไม่ ถ้ายังไม่มากพอควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาอาหารเสริมหรือหาหนทางแก้ไขต่อไป
     แต่อย่างไรก็ตามนอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลก็ควรดูแลตนเองด้วยเช่นกัน เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องใช้พลังกาย พลังใจและความรู้เป็นอย่างมาก



อ้างอิง
[1] https://www.honestdocs.co/
[2] https://www.doctor.or.th/
[3] https://www.bangkokhospital.com/