เล่นเกมวันละนิด พิชิตอัลไซเมอร์

   ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานของอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากความชราตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาด้านสุขภาพเสื่อมโทรม มีโรคภัยต่าง ๆ เบียดเบียนทั้งโรคทางกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม โดยเฉพาะผู้มีอายุเกิน 65 ปี มักมีการเปลี่ยนแปลงทางสมองคือ โรคสมองเสื่อม โรคหลงลืม โรคซึมเศร้า

   โรคอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ เพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน โรคอัลไซเมอร์ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อย ๆ ลดลง ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้น รวมถึงความเฉลียวฉลาด การใช้เหตุผล ภาษา การคิด การตัดสินใจ อาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาการหลงลืมแตกต่างจากโรคอัลไซเมอร์อย่างไร อาการหลงลืมตามวัย ได้แก่ หลงลืมเรื่องที่ไม่สำคัญ ไม่บ่อย และต้องไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อาการหลงลืมตามวัยนี้จะสามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ถ้ามีความตั้งใจที่จะจดจำอย่างจริงจัง จดบันทึก เตือนตัวเองโดยวิธีการต่าง ๆ ฝึกตัวเองให้มีสติอยู่เสมอ จะช่วยลดอาการหลงลืมให้น้อยลงได้ และแม้ว่าโรคอัลไซเมอร์อาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม แต่การทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานของสมองบ่อย ๆ สามารถช่วยชะลอการเกิดโรคได้

   การเล่นเกมที่ฝึกสมอง ช่วยเสริมสร้างศักยภาพทุกด้านของสมอง เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ช่วยให้ใจสงบ มีสมาธิ เป็นการปรับร่างกายให้เข้าสู่ภาวะสมดุลกระตุ้นสมองให้คิดและวางแผน ตัดสินใจ ทำให้สมองแข็งแรงและทำงานอย่างสมดุล เช่น หมากรุก หมากฮอส เกมเรียงเพชร เกมจับผิดภาพ เป็นต้น การนำเกมมาให้ผู้สูงอายุในบ้านเล่น จะช่วยให้ผู้สูงอายุผ่อนคลาย เบี่ยงเบนความสนใจในเรื่องที่กังวล มีความมุ่งมั่นในการทำภารกิจให้สำเร็จ เมื่อสามารถทำภารกิจสำเร็จผู้สูงอายุจะรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ช่วยให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ด้วยตนเองดีขึ้น ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น

อ้างอิง
https://ladynurse.co
https://www.ktc.co.th
https://www.freepik.com