การดูแลแผลกดทับ


การดูแลแผลกดทับผู้ดูแลจำเป็นจะต้องคอยทำความสะอาดบาดแผลอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือการลุกลามของแผล นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อื่นเข้าช่วย อาทิ แผ่นแปะแผลกดทับ ทาเจลเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว เป็นต้น ทั้งยังต้องคอยพลิกตัวและเปลี่ยนท่านอนเผื่อไม่ให้น้ำหนักกดทับไปยังแผลมากเกินไป รวมไปถึงเรื่องของอาหารเสริมเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

หลักสำคัญของการดูแลแผลกดทับคือการป้องกันไม่ให้บาดแผลลุกลามและบรรเทาความรุนแรงของแผลให้ลดน้อยลง ดังนั้นจึงต้องมีความพิถีพิถันในการดูแลเป็นอย่างมาก   

1.) การทำความสะอาดบาดแผล
ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อในการล้างแผล โดย ห้าม ใช้น้ำยาทำความสะอาดแผลสดในการทำความสะอาดแผลกดทับ อาทิ แอลกอฮอล์ เบตาดีน ยาแดง พราะนอกจากจะทำให้แผลกระด้างแล้ว ตัวยาดังกล่าวยังเข้าทำลายเนื้อเยื่อที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่อีกด้วย
การทำความสะอาดบาดแผลให้ใช้สำลีชุบน้ำเกลือแล้วเช็ดวนบริเวณรอบแผล โดยเริ่มเช็ดจากด้านในของแผลออกมาด้านนอก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคบริเวณผิวหนังรอบนอกเข้าสู่บาดแผล สำหรับแผลกดทับที่เป็นหลุมลึก ให้ใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำเกลือเพื่อทำความสะอาดแผลภายใน
สำหรับวัสดุปิดแผลให้ใช้วัสดุปิดแผลที่ให้ความชุ่มชื้นหรือเคลือบสารที่ให้ความชุ่มชื้นกับแผล เช่น เคลือบด้วยวาสลีน หรือซิลิโคน เป็นต้น


2.) การดูแลแผลกดทับ
การดูแลแผลกดทับจะแตกต่างกันไปตามแต่ความรุนแรงของแผลกดทับ (สามารถอ่านรายละเอียดของระดับความรุนแรงได้ที่นี่ : คลิก) ดังนี้
ระดับ 1 : หมั่นพลิกตะแคงผู้ป่วยอย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมง รวมทั้งยกส้นเท้าของผู้ป่วยให้สูงจากพื้นเตียงโดยใช้หมอน รวมไปถึงการทำความสะอาดทุกครั้งหลังการขับถ่าย ส่วนผ้าปูที่นอนก็ควรดึงให้เรียบตึง เพื่อป้องกันรอยยับย่นของผ้าที่จะทำให้เกิดรอยแผลเพิ่มเติม
ห้าม ใช้ห่วงยางหรือถุงมือยางใส่น้ำรองตามปุ่มกระดูก เพราะจะทำให้หลอดเลือดถูกกดทับและเนื้อเยื่อตายได้
ห้าม นวดหรือประคบด้วยน้ำอุ่น เพราะจะทำให้การอักเสบของผิวหนังเพิ่มมากขึ้น
ระดับที่ 2 : ทำแผลโดยใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อโรคในการล้างทำความสะอาด และคอยพลิกตัวผู้ป่วยอย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมง
ระดับที่ 3 : ทำแผลโดยใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อโรคในการล้างทำความสะอาด หากแผลลึกให้ใช้หลอดฉีดยาช่วยในการทำความสะอาดบาดแผล หากมีไข้ แผลเป็นหนองหรือมีกลิ่นเหม็น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม
ระดับที่ 4 ขึ้นไป : ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

3.) อาหารเสริม
 ควรเป็นอาหารประเภท
โปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่ว
วิตามินซี วิตามินเอ
แร่ธาตุสังกะสีและเหล็ก

จึงสรุปได้ว่าหัวใจของการดูแลแผลกดทับคือการป้องกันไม่ให้แผลลุกลามหรือรุนแรงขึ้น และช่วยเยียวยาบาดแผลที่มีให้กลับมาเป็นปกติ ทั้งหมดนี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างได้แก่ การลดน้ำหนักการกดทับที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งนาน ๆ โดยหมั่นพลิกตะแคง การรักษาความสะอาดของผู้ป่วย และการเพิ่มอาหารเสริมที่จะช่วยให้บาดแผลหายเร็วมากยิ่งขึ้น   

 


อ้างอิง
[1] http://www.med.cmu.ac.th/